ประวัติความเป็นมา
ประวัติความเป็นมา
การก่อตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตีบ จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ บ้านดอกคำใต้ หมู่ 1 ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภองาว มีระยะทางห่างจากอำเภองาว ประมาณ 20 กิโลเมตร บนเส้นทางหลวงหมายเลข 103 สายร้องกวาง - งาว กิโลเมตรที่ 42
ตราประจำ อบต.แม่ตีบ
ความหมายของตราสัญลักษณ์
พระธาตุทรายเหงา ซึ่งเป็นโบราณสถานที่ชาวตำบลแม่ตีบเคารพ และ ศรัทธา ประดิษฐานท่ามกลางความร่มรื่นเขียวขจีแห่งพรรณไม้ และ ขุนเขาอันอุดมสมบูรณ์ ภายใต้ตราวงกลมแห่งความสามัคคี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาชน
สีประจำตำบลแม่ตีบ
สีเขียว หมายถึง ความร่มรื่น เขียวขจีและความหลากหลายแห่งทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ที่หล่อหลอมหัวใจของชาวตำบลแม่ตีบให้มีความรักษ์ป่า และอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล
คำขวัญตำบลแม่ตีบ
ท้องถิ่นธัญญาหาร พระประธานทองทิพย์ ก๊างหงส์สิ่งสถิตย์ ศักดิ์สิทธ์เจ้าพ่อเจินเมือง ลือเลื่องถ่านหินลิกไนต์ กราบไหว้วัดพระธาตุม่อนทรายเหงา
ความเป็นมาของตำบลแม่ตีบ
แม่ตีบ เดิมถูกเรียกว่า “เวียงทิพย์” สร้างคู่มากับ “เวียงทอง และเมืองเงิน หรือง้าวเงิน” ยังพบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุปรากฏอยู่ อาทิ วัดดอยทิพย์ (วัดพระธาตุม่อนทรายเหงา) วัดหาดทราย (วัดปากห้วย) วัดเทพาราม (วัดห้วยเต็บ บ้านงิ้วงาม) และมีพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเวียงทิพย์ ได้แก่ พระพุทธองค์ทิพย์
เมื่อราวปี พ.ศ.2200 เมืองเวียงทิพย์ในฐานะเมืองหน้าด่านของเมืองลำปางได้เฝ้าระวังและคอยต่อต้านข้าศึกที่ยกมาประชิดจากเมืองเชียงชื่น (อำเภอสอง จังหวัดแพร่ในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านแห่งอาณาจักรล้านนาไทย
ต่อมาในปี พ.ศ.2378 พวกเงี้ยว ที่มีความพรั่งพร้อมทั้งไพร่พลและเสบียงอาหารได้เข้ามายึดเมืองน่านและเมืองแพร่ไว้ได้ จึงตัดสินใจยกทัพมายังเมืองลำปางเพื่อแผ่แสนยานุภาพอาณาจักรของตน ในระหว่างทางนั้นได้ผ่านมาทางช่องเขาเมืองทิพย์ เกิดการปะทะกันจนในที่สุดฝ่ายเงี้ยวได้รับชัยชนะ จึงได้เผาทำลายเมืองจนมอดไหม้เป็นเถ้าถ่าน จากตำนานที่เล่าขานสืบต่อกันมาและหลักบานเชิงประวัติศาสตร์พบว่า ชาวเมืองเวียงทิพย์เดิมนั้น ผู้คนได้อพยพมาจาก เมืองเชียงแสน เมืองเชียงลาว และเมืองเชียงตุง ได้มาสร้างบ้านแปลงเมืองในสมัยเดียวกันกับ เมืองเวียงแป้น (บ้านแม่แป้น ตำบลนาแก) และชาวเวียงบน (ชาวบ้านดอนไชย) เนื่องจากเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ จึงพากันตั้งรกรากและสืบเชื้อสายจวบจนปัจจุบัน
พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง
พระเจ้าทองทิพย์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน หรือคล้ายพระสิงห์ จ.เชียงใหม่ และมองไปคล้ายพระเจ้าทันใจ วัดพระธาตุดอยคำ ชาวบ้านเรียกพระองค์นี้ว่า พระเจ้าทองทิพย์ มีฐานเป็นบัว หน้าตักประมาณ 40 เซนติเมตร สูงประมาณ 60 เซนติเมตร
เรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าองค์พระเจ้าทองทิพย์ถูกพบเจอที่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ วัดม่อนทรายเหงาแห่งนี้ สมัยนั้นได้เกิดศึกสงครามจากพวกเงี้ยว พม่ารามัญ จนพวกเงี้ยวถูกไล่ตีจนทัพแตกได้หนีล่นถอยมาจนถึงม่อนทรายเหงาแห่งนี้ ได้พบเห็นองค์พระเจ้าทองทิพย์ จึงนำพระไปด้วยจนไปถึงลุ่มน้ำบ้านแม่งาว ได้นำองค์พระข้ามน้ำไปและเดินทางต่อ แต่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ยิ่งเดินทางต่อไปองค์พระก็มีน้ำหนักมากขึ้นๆ จนพวกเงี้ยวยกองค์พระไปไม่ไหวจึงพากันขุดฝังองค์พระไว้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปได้มีชาวบ้านเลี้ยงโคผ่านไป จนโคไปเตะโดนเกศาองค์พระเจ้าทองทิพย์ ทำให้เกศาหัก เจ้าของฝูงโคได้เห็นจึงขุดดูและได้พาชาวบ้านไปนำองค์พระกลับมายังหมู่บ้านตามเดิม และได้ปรึกษากันจึงได้อัญเชิญองค์พระพุทธรูป พระเจ้าทองทิพย์ขึ้นประดิษฐาน ณ วัดบ้านแม่ตีบหลวง
สถานที่สำคัญ
ประวัติวัดพระธาตุม่อนทรายเหงา
วัดม่อนทรายเหงาหรือวัดดอย ตั้งอยู่ ตำบลแม่ตีบ อำเภองาว จังหวัดลำปาง พระธาตุม่อนทรายเหงา สันนิษฐานสร้างขึ้นสมัยเชียงแสน (อ้างอิงจากประวัติพระธาตุม่อนทรายนอน อำเภองาว) ปี พ.ศ.2469 วัดพระธาตุม่อนทรายเหงาแห่งนี้เป็นวัดแรกๆ ของตำบล
สมัยพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสวยพระชาติเป็นเนื้อทรายทอง มีรูปร่างสูงใหญ่อ้วนถ้วนกว่าเนื้อทรายทั่วๆไป และที่สำคัญยังมีผิวสีดุจดั่งทองทั่วทั้งตัว เป็นที่ต้องตาของนายพราน (อ้างอิงจากประวัติวัดม่อนทรายนอน) นายพรานจึงไล่ล่าเนื้อทรายจนมาถึงวัดพระธาตุม่อนทรายนอน อำเภองาว เนื้อทรายได้พักนอนอยู่ที่เชิงเขา ณ ที่แห่งนั้น เมื่อนายพรานตามรอยมาถึง เนื้อทรายจึงหนีเตลิดมายังวัดพระธาตุม่อนทรายเหงา ตำบลแม่ตีบ และได้มาพักยืนเหงา (น่าจะมาจากการเหนื่อยล้าที่เรียกว่า เหงา) และได้คายเมล็ดมะหาดไว้ จนกลายเป็นต้นมะหาดข้างพระธาตุจนเท่าทุกวันนี้และหนีนายพรานไปทาง อำเภอสอง จังหวัดแพร่